น้อมรำลึกเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เป็นศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้เป็นวิธีการทรงงานมาตลอดรัชสมัย คำว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” คือ

การเข้าใจ คือ การสร้างให้เกิดความเข้าใจในข้อมูลพื้นฐาน ด้วยการศึกษาข้อมูลทุกมิติของชุมชน ค้นหารากของปัญหาและรวบรวมองค์ความรู้ของโครงการพระราชดำริทั่วประเทศ

การเข้าถถึง เป็นเรื่องการสื่อสารและสร้างการมีส่วนร่วม มุ่งสื่อสารสร้างความเข้าใจและความมั่นใจกับชุมชน ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนามากที่สุด

การพัฒนา เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชน สร้างทีมพี่เลี้ยง การออกแบบหลักสูตรและเมนูการพัฒนาการศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้และฝึกปฏิบัติของชุมชน รวมทั้งการให้คำแนะนำใน ชุมชนและติดตามสนับสนุนประเมินผล

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานองค์ความรู้ผ่านพระราชดำรัส พระราชปรารภ และพระบรมราโชวาท ในหลากหลายวาระ ซึ่งโครงการฯ น้อมนำมาเป็นหลักการ และแนวทางในการปฏิบัติ อาทิ

ดิน

“...ดินนั้นพัฒนาขึ้นมาได้โดยไม่ยากนัก ดินจะเค็มจะเปรี้ยวจะจืดอะไรก็ตาม สามารถที่จะทำให้ดีขึ้นได้ภายในไม่กี่ปี โดยใช้เทคนิคแบบโบราณคือ ใช้ปุ๋ยหมักหรือใช้ตะกอนที่ลงมาตามลำห้วย มาพัฒนาดินอันนี้เป็นวิธีที่ง่าย...”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2536

ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

น้ำ

“...หลักสำคัญว่า ต้องมีน้ำ น้ำบริโภคและน้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้...”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2529

ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร

ป่า

“...การที่จะมีต้นน้ำลำธารไปชั่วกาลนานนั้น สำคัญอยู่ที่การรักษาป่าและปลูกป่าบริเวณต้นน้ำ ซึ่งบนยอดเขา และเนินเขาสูงขึ้น ต้องมีการปลูกป่าโดยไม้ยืนต้นและปลูกไม้ฟืน ซึ่งไม้ฟืนนั้นราษฎรสามารถตัดไปใช้ได้ แต่ต้องมีการปลูกทดแทนเป็นระยะ ส่วนไม้ยืนต้นนั้นจะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้น เป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการให้ฝนตกแบบธรรมชาติ ทั้งยังช่วยยึดดินบนเขาไม่ให้พังทลายเมื่อเกิดฝนตกอีกด้วย ซึ่งถ้ารักษาสภาพป่าไว้ดีแล้ว ท้องถิ่นจะมีน้ำไว้ใช้ชั่วกาลนาน...”

พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2520 ณ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี

คน

ประชาชนในหลายพื้นที่นำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการบริหารจัดการน้ำมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง ว่าจะทำอย่างไรจึงจะมีน้ำกินน้ำใช้ตลอดทั้งปี พระราชดำริในการพัฒนาของพระองค์ได้สอนให้ราษฎรสำรวจพื้นที่และแหล่งน้ำของตน คำนวนปริมาณน้ำใช้ให้เพียงพอตลอดทั้งปีและรู้วิธีควบคุมน้ำไว้ให้ได้ โดยมีความร่วมมือของชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน

ดิน น้ำ ป่า คน ล้วนพึ่งพาอาศัยกัน ทั้งวงจร ได้รับการดูแลรักษาย่อมเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตราบนานเท่านาน


image
image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 278,118